วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552

วิธีการทางวิทยาศาสตร์

วิธีการทางวิทยาศาสตร์
การที่นักวิทยาศาสตร์จะศึกษาค้นคว้าทดลองสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จได้ ต้องอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ กล่าวคือนักวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นสาขาใดก็ตามย่อมมีวิธีการคล้ายคลึงกันในการศึกษาหาความรู้ คือ เริ่มจากการสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติหรือที่เกิดขึ้นแล้วจึงเกิดปัญหา ขั้นต่อไปก็คือการคิดหาคำตอบที่อาจเป็นไปได้ คำตอบเหล่านี้เรียกว่า สมมติฐาน การกำหนดสมมติฐานอาจจะไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง เพราะยังไม่ได้มีการพิสูจน์ ทดลอง
ดังนั้นการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ คือ ทดลอง วิจัย เรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเสร็จสิ้นและสมบูรณ์ โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) ได้แก่
สังเกต และระบุการตั้งปัญหา เป็นการรวบรวมข้อมูลที่อาจเกิดขึ้นจากความสงสัยในเรื่องต่างๆ ที่ประสบอยู่ เช่น สงสัยปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดความสงสัยในเรื่องที่ปฏิบัติอยู่ เป็นต้น
ตั้งสมมติฐาน เป็นการคาดคะเนเหตุการณ์หรือคิดว่า เรื่องที่สงสัยอยู่นั้นน่าจะมีสาเหตุมาจากสิ่งใด หรือเดาว่าเหตุการณ์จะต้องเป็นไปอย่างไร ซึ่งการคาดคะเนจะต้องมีเหตุผลเพียงพอ
รวบรวมข้อมูล เป็นการศึกษาค้นคว้าหาวิธีดำเนินงานอย่างมีระบบ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ศึกษาอยู่ การรวบรวมข้อมูลอาจใช้เครื่องมือหรือวิธีการได้หลายชนิด
การทดลอง เป็นการนำข้อมูลที่รวบรวมไว้มาทำการทดลองเพื่อตรวจสอบสมมติฐานว่าถูกต้องหรือไม่
สรุปผลการทดลอง เป็นการนำข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบที่เชื่อถือได้มาอธิบายข้อสงสัยหรือการตอบปัญหาข้อสงสัย ซึ่งจะมีประโยชน์ในการทำนายและควบคุมต่อไป
ลักษณะนิสัยของนักวิทยาศาสตร์ที่ดี ควรจะต้องได้รับการฝึก ดังต่อไปนี้
1. การเป็นคนช่างสังเกต การสังเกตเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ การสังเกตเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนได้ และเมื่อสังเกตสิ่งใดควรสังเกตอย่างละเอียดโดยใช้ประสาทสัมผัสให้มากทางที่สุด แต่ต้องระวังความปลอดภัยด้วย
2. การเป็นคนช่างคิดช่างสงสัย จากคำถามต่างๆ ทำให้เป็นคนที่มีเหตุผลต่าง ๆ ตลอดจนไปค้นคว้า เพื่อหาคำตอบ ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ความช่างคิดช่างสงสัยทำให้เกิดความคิดต่อเนื่องซึ่งอาจนำไปสู่การเสาะแสวงหาความรู้ต่อๆ ไปได้
3. การเป็นคนมีเหตุผล นั่นหมายถึงในการลงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ใด ๆ ผู้ที่มีเหตุผลควรจะรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุดและพิจารณาอย่างรอบคอบ
4. การเป็นคนมีความพยายามและความอดทน การเป็นคนมีความพยายามและความอดทนเป็นลักษณะนิสัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการค้นคว้าหาความรู้และเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตอีกด้วย
5. การเป็นคนมีความคิดริเริ่ม การเป็นคนที่มีความคิดริเริ่มจะช่วยให้ได้ความรู้และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างงานใหม่
6. การเป็นคนทำงานอย่างมีระบบ การทำงานอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอน ซึ่งประกอบด้วยสังเกตแล้ว ระบุปัญหา ค้นคว้ารวบรวมข้อมูล ตั้งสมติฐาน ทดลอง และสรุปผลเรียกว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนอกจากจะนำไปใช้ในการค้นคว้าหาความรู้ แล้วยังสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย