วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รูปแบบการเขียนรายงาน

เรื่อง การเขียนรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ส่วนประกอบของการเขียนรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์ โดยทั่วไปประกอบด้วย
1. ปกนอก
เป็นส่วนที่อยู่ด้านหน้าสุดของรายงานโครงงาน จะใช้กระดาษแข็ง เนื้อหาส่วนใหญ่คือ
- ชื่อเรื่องโครงงาน
- ชื่อผู้จัดทำโครงงาน
- ชื่อสถานที่ศึกษา
- จุดประสงค์ในการนำเสนอโครงงาน
2. ปกใน
เป็นส่วนที่อยู่รองจากปกนอกรายละเอียดจะคล้ายกับปกนอก ประกอบด้วย
- ชื่อเรื่องโครงงาน
- ชื่อผู้จัดทำโครงงาน
- ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา
- ชื่อสถานที่ศึกษา
- จุดประสงค์ในการนำเสนอโครงงาน
3. กิตติกรรมประกาศ
ส่วนใหญ่โครงงานวิทยาศาสตร์มักจะเป็นกิจกรรมที่ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศของความร่วมมือ จึงควรได้กล่าวขอบคุณบุคลากรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยให้โครงงานนี้สำเร็จด้วย และเพื่อให้ผู้จัดทำโครงงานได้แสดงออกถึงความกตัญญู รู้จักบุญคุณ นอกจากนี้ยังสามารถยืนยันถึงความสนใจ ในการทำโครงงานอีกด้วย
4. บทคัดย่อ
อธิบายถึงที่มาและความสำคัญของโครงงาน วัตถุประสงค์ วิธีดำเนินการ และผลที่ได้ตลอดจนข้อสรุปต่าง ๆ อย่างย่อประมาณ 300-350 คำ (ถ้าใช้โปรแกรม Microsoft Word ในการพิมพ์สามารถตรวจสอบจำนวนคำจากเมนูเครื่องมือ เลือกคำสั่งนับจำนวนคำ )

5. สารบัญ
สารบัญจะเป็นส่วนที่ช่วยให้ผู้อ่านเห็นเค้าโครงโครงงาน และยังช่วยในการค้นหาแต่ละหัวข้อได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แยกตามลักษณะรายละเอียดได้ดังนี้
- สารบัญเรื่อง จะบอกเนื้อหาแต่ละเรื่องว่าอยู่หน้าไหน
- สารบัญตาราง จะบอกว่าตารางแต่ละตารางว่าอยู่หน้าไหน
- สารบัญรูปภาพ จะบอกว่ารูปภาพแต่ละรูปภาพว่าอยู่หน้าไหน
- สารบัญแผนภูมิและกราฟ จะบอกว่าแผนภูมิและกราฟแต่ละอันว่าอยู่หน้าไหน
6. ส่วนเนื้อเรื่องของการเขียนรายงาน
6.1 บทที่ 1 บทนำ เป็นบทแรกของการเสนอรายงานโครงงาน เป็นการกล่าวถึงเหตุจูงใจในการทำโครงงานเรื่องนี้ ทำแล้วจะได้ประโยชน์อะไร เป็นต้น ซึ่งจะประกอบด้วยหัวข้อดังนี้
- ภูมิหลัง หรือ ที่มาและความสำคัญ
ในการเขียนที่มาและความสำคัญของโครงงานวิทยาศาสตร์ ผู้ทำโครงงานจำเป็น ต้องศึกษา หลักการทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องที่สนใจจะศึกษา หรือพูดเข้าใจง่าย ๆ ว่าเรื่องที่สนใจจะศึกษานั้นต้องมีทฤษฎีแนวคิดสนับสนุน เพราะความรู้เหล่านี้จะเป็นแนวทางสำคัญในเรื่องต่อไปนี้ คือ แนวทางตั้งสมมติฐานของเรื่องที่ศึกษา แนวทางในการออกแบบการทดลองหรือการรวบรวมข้อมูลใช้ประกอบการอภิปรายผลการศึกษา ตลอดจนเสนอแนะเพื่อนำความรู้และ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ค้นพบไปใช้ประโยชน์ต่อไป การเขียนที่มาและความสำคัญของโครงงาน คือ การอธิบายให้กระจ่างชัดว่าทำไม ต้องทำ ทำแล้วได้อะไร หากไม่ทำจะเกิดผลเสียอย่างไร ซึ่งมีหลักการเขียนคล้ายการเขียนเรียงความ ทั่ว ๆ ไป คือ มีคำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป
ส่วนที่ 1 คำนำ : เป็นการบรรยายถึงนโยบาย เกณฑ์ สภาพทั่ว ๆ ไป หรือปัญหาที่มีส่วนสนับสนุนให้ริเริ่มทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ส่วนที่ 2 เนื้อเรื่อง : อธิบายถึงรายละเอียดเชื่อมโยงให้เห็นประโยชน์ของการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ โดยมี หลักการ ทฤษฎีสนับสนุนเรื่องที่ศึกษา หรือการบรรยายผลกระทบ ถ้าไม่ทำโครงงานเรื่องนี้
ส่วนที่ 3 สรุป : สรุปถึงความจำเป็นที่ต้องดำเนินการตามส่วนที่ 2 เพื่อแก้ไขปัญหา ค้นข้อความรู้ใหม่ ค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ให้เป็นไปตามเหตุผลส่วนที่ 1
- ความมุ่งหมายของการทำโครงงาน หรือ วัตถุประสงค์
คือ กำหนดจุดมุ่งหมายปลายทางที่ต้องการให้เกิดจากการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ในการเขียนวัตถุประสงค์ ต้องเขียนให้ชัดเจน อ่านเข้าใจง่ายสอดคล้องกับชื่อโครงงาน หากมีวัตถุประสงค์หลายประเด็น ให้ระบุเป็นข้อ ๆ การเขียนวัตถุประสงค์มีความสำคัญต่อแนวทาง การศึกษา ตลอดจนข้อความรู้ที่ค้นพบหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ค้นพบนั้นจะมีความสมบูรณ์ครบถ้วน คือ ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทุก ๆ ข้อ
- ตัวแปรต่าง ๆ
ตัวแปรที่ศึกษา การศึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ ส่วนมากมักเป็นการศึกษาความสัมพันธ์เชิงเหตุและผล หรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวแปรขึ้นไป การบอกชนิดของตัวแปรอย่างถูกต้องและชัดเจน รวมทั้งการควบคุมตัวแปรที่ไม่สนใจศึกษา เป็นทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ผู้ทำโครงงานต้องเข้าใจ ตัวแปรใดที่ศึกษาเป็นตัวแปรต้น ตัวแปรใดที่ศึกษาเป็น ตัวแปรตาม และตัวแปรใดบ้างเป็นตัวแปรที่ต้องควบคุมเพื่อเป็นแนวทางการออกแบบการทดลอง ตลอดจนมีผลต่อการเขียนรายงานการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง สื่อความหมายให้ผู้ฟังและ ผู้อ่านให้เข้าใจตรงกัน
- สมมติฐาน
สมมติฐานของการศึกษา เป็นทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ผู้ทำโครงงานต้องให้ความสำคัญ เพราะจะทำให้เป็นการกำหนดแนวทางในการออกแบบการทดลองได้ชัดเจนและรอบคอบ ซึ่งสมมติฐานก็คือ การคาดคะเนคำตอบของปัญหาอย่างมีหลักและเหตุผล ตามหลักการ ทฤษฎี รวมทั้งผลการศึกษาของโครงงานที่ได้ทำมาแล้ว
- นิยามศัพท์เฉพาะ หรือนิยามเชิงปฏิบัติการ
เป็นนิยามที่ผู้ทำการทดลองกำหนดความหมายและขอบเขตของคำหรือข้อความต่าง ๆ หรือตัวแปรต้นกับตัวแปรตามที่อยู่ในสมมติฐานให้เข้าใจตรงกัน และสามารถสังเกตหรือวัดได้ โดยการบรรยายในเชิงรูปธรรมหลักสำคัญในการกำหนดนิยามเชิงปฏิบัติการ คือ จะต้องกำหนดนิยามให้ครอบคลุมว่า ต้องทำความสามารถอะไร ต้องปฏิบัติอย่างไร จะสังเกตอะไรจากการทดลองหรือสำรวจ
ตัวอย่าง การให้นิยามของก๊าซออกซิเจน
นิยามทั่ว ๆ ไป : ออกซิเจนเป็นก๊าซที่มีเลขอะตอมเท่ากับ 8 และมวลอะตอมเท่ากับ 16 ( ทุกคนเข้าใจตรงกันแต่สังเกตและวัดไม่ได้ )
นิยามเชิงปฏิบัติการ : ออกซิเจนเป็นก๊าซที่ช่วยในการติดไฟ เมื่อนำก้อนถ่านที่คุแดงแหย่ลงไปในก๊าซนั้นแล้ว ก้อนถ่านจะลุกเป็นเปลวไฟ ( ทุกคนเข้าใจตรงกัน สังเกตและวัดได้ )
- ขอบเขตของการศึกษาโครงงาน
ผู้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ต้องให้ความสำคัญต่อการกำหนดขอบเขตการทำโครงงาน เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือ ซึ่งได้แก่ การกำหนดประชากร กลุ่มตัวอย่าง ตลอดจนตัวแปรที่ศึกษา
6.2 บทที่ 2 เอกสารที่เกี่ยวข้อง เป็นบทที่แสดงถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะศึกษา อย่างละเอียด
6.3 บทที่ 3 วัสดุอุปกรณ์และวิธีการดำเนินงาน เป็นบทที่แสดงถึงการวางแผนออกแบบการทดลอง ว่าจะใช้อะไรดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งประกอบด้วย
- เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา
- ขั้นตอนและวิธีการศึกษาโครงงาน
- การเก็บรวบรวมข้อมูล
6.4 บทที่ 4 ผลการศึกษา เป็นการนำเสนอผลการศึกษาหรือผลการทดลองต่าง ๆ แต่ละขั้นตอน ที่สังเกตรวบรวมได้ รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ โดยเสนอผลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ตาราง กราฟ แผนภูมิ เป็นต้น
6.5 บทที่ 5 สรุปและอภิปรายผลการทดลอง อธิบายผลสรุปที่ได้จากการทำโครงงาน ถ้ามีการตั้งสมมติฐาน ควรระบุด้วยว่าข้อมูลที่ได้สนับสนุนหรือคัดค้านสมติฐานที่ตั้งไว้ หรือยังสรุปไม่ได้ นอกจากนี้ยังควรกล่าวถึงการนำผลการทดลองไปใช้ประโยชน์ อุปสรรคของการทำโครงงานหรือข้อสังเกตที่สำคัญหรือข้อผิดพลาดบางประการที่เกิดขึ้นจากการทำโครงงานนี้ รวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไข หากมีผู้ศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่ทำนองนี้ต่อไปในอนาคตด้วย
7. ภาคผนวก
เป็นการเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับการดำเนินงานโครงงาน หรือทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
8. บรรณานุกรม เป็นการอ้างอิงหลักฐานเอกสารที่ค้นคว้าเกี่ยวกับการศึกษาโครงงาน โดยมีรูปแบบการนำเสนอดังนี้
- ชื่อผู้แต่ง นามสกุล.// ชื่อหนังสือ.// ครั้งที่พิมพ์.(ถ้าพิมพ์ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป) เมืองที่พิมพ์ / : / สำนักพิมพ์, / ปีที่พิมพ์. ( เครื่องหมาย / หมายถึง การเว้น 1 เคาะ )
- การนำเสนอต้องเรียงลำดับตามตัวอักษรชื่อผู้แต่งโดยไม่มีคำนำหน้า
- เริ่มต้นแต่ละรายการของบรรณานุกรมโดยพิมพ์ชิดขอบซ้ายมือ ถ้าไม่จบในบรรทัดเดียวให้พิมพ์ต่อในบรรทัดถัดมาในระยะที่ 9
- ผู้แต่งคนเดียวกันเขียนงานหลายเรื่องและนำมาลงรายการบรรณานุกรมไว้ด้วยกัน งานชิ้นแรกให้ลงนามผู้แต่งตามหลักเกณฑ์การลงรายการผู้แต่งในบรรณานุกรม ต่อมาชิ้นหลัง ๆ ใช้ขีดเส้นยาวติดต่อกันระยะ 8 ช่วงตัวอักษรแทนนามผู้แต่ง ตามด้วยเครื่องหมายมหัพภาคแล้วจึงขึ้นชื่อเรื่องและเรียงลำดับตามอักษรชื่อเรื่องนั้น


ดังตัวอย่าง
ชลัยพร เหมะรัชตะ และคนอื่นๆ. การค้นคว้าและเขียนรายงาน. พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม.
กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540.
ภัทรธิรา ผลงาม. ทรัพยากรมนุษย์กับการพัฒนา. เลย : สถาบันราชภัฏเลย , 2544.
__________. ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์. เลย : สถาบันราชภัฏเลย , 2545.

9. ใบรองปกหน้า – หลัง เป็นกระดาษเปล่าขนาดเดียวกับที่ใช้พิมพ์รายงาน เพื่อป้องกันปกใน และเนื้อหาในแผ่นสุดท้ายอีกชั้นหนึ่ง
10. ปกหลัง เป็นกระดาษแข็งเช่นเดียวกับปกหน้า เพื่อเย็บเป็นรูปเล่ม