วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552

แนวคิดในการเลือกชื่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ขั้นตอนการคิดและเลือกชื่อเรื่องที่จะทำโครงงาน

การทำโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาค้นคว้าและทดลองของนักเรียนด้วยตนเองตามความสนใจโดยนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ให้ประสบความสำเร็จ
การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องและมีการดำเนินงานหลายขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนในการทำโครงงานตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นสุดท้ายอาจสรุปได้ดังนี้
1. การคิดและเลือกชื่อเรื่องที่จะทำโครงงาน
2. การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อ
3. การออกแบบการทดลอง
4. การจัดเค้าโครงโครงงานวิทยาศาสตร์
5. การลงมือทำโครงงานวิทยาศาสตร์
6. การเขียนรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์
7. การแสดงผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์

การคิดและเลือกชื่อเรื่องที่จะทำโครงงานหรือ ขั้นตั้งปัญหา

เป็นขั้นที่มีความสำคัญที่สุดเพราะการการคิดและเลือกชื่อเรื่องได้อย่างถูกต้องเหมาะสมจะทำให้มีแนวทางและประสบความสำเร็จในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ไปแล้ว ครึ่งหนึ่ง
ปัญหา คือ สิ่งที่นักเรียนสงสัยและต้องการทราบคำตอบ
การตั้งปัญหาที่ดี ควรตั้งให้สามารถนำไปสู่การตรวจสอบหรือการทดลองได้ โดยทั่วไปจะตั้งให้อยู่ในลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้นกับตัวแปรตามโดยใช้ข้อความว่า...............(ตัวแปรต้น) .......... มีผลต่อ .............(ตัวแปรตาม)....................อย่างไร
นักเรียนแต่ละคนอาจจะมีวิธีการได้มาของปัญหาแตกต่างกัน ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับประสบการณ์
และความสนใจของนักเรียนแต่ละคน แหล่งกำเนิดแนวความคิดและกระตุ้นความสนใจเพื่อให้ได้แนวความคิดในการเลือกชื่อเรื่อง เพื่อทำโครงงานพอสมควรได้ดังแนวความคิดต่อไปนี้





แนวความคิดที่1) จากการอ่านหนังสือต่างๆ เช่น ตำรา หนังสือพิมพ์ วารสาร เป็นต้น
ไม่เฉพาะแต่ เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น
ตัวอย่างสถานการณ์ที่ 1
เด็กชายไกรวิชญ์ ได้อ่านหนังสือพิมพ์ในหัวข้อข่าว ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่ง
กระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ให้มีการ “ กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ และ
สวมหน้ากากอนามัย ” เด็กชายไกรวิชญ์ ต้องห่อข้าวมาทานที่โรงเรียน จึงต้องการทราบว่า
จะทำอย่างไรให้อาหารร้อนอยู่ได้จนถึงเวลาพักกลางวัน เด็กชายไกรวิชญ์ จึงคิดที่จะประดิษฐ์
กล่องข้าวที่สามารถเก็บรักษาอุณหภูมิได้ และจากประสบการณ์ของเด็กชายไกรวิชญ์ ที่เคยเห็น
แม่ค้าขายน้ำแข็งไส เก็บก้อนน้ำแข็งไว้ในกองแกลบ เด็กชายไกรวิชญ์ จึงตั้งปัญหาว่า แกลบจะ
ช่วยรักษาอุณหภูมิของอาหารได้หรือไม่ จึงคิดชื่อโครงงานว่า
“ แกลบช่วยรักษาอุณหภูมิของอาหาร ”









แนวความคิดที่ 2 ) จากการไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ เช่น วนอุทยาน สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ โรงงาน
อุตสาหกรรม หน่วยงานวิจัย ห้องปฏิบัติการ
ตัวอย่างสถานการณ์ที่ 2
ในช่วงปิดภาคเรียนครอบครัวของเด็กหญิง สมศรี ได้ไปเที่ยวสวนสัตว์เชียงใหม่ ได้ชม
สัตว์ต่าง ๆ หลายชนิด และเกิดความสนใจในพฤติกรรมต่าง ๆ ของสัตว์ รวมทั้งครอบครัว
ยังได้พาไปชมภาพยนต์เรื่อง ไอ้แมงมุมภาค 3 จึงอยากทราบพฤติกรรมของแมงมุมจริงๆ
ว่ามีการชักใยอย่างไร เด็กหญิง สมศรี จึงคิดชื่อโครงงานว่า
“ การศึกษาพฤติกรรมการชักใยแมงมุม ”



แนวความคิดที่ 3) จากการฟังบรรยายทางวิชาการ การฟังและชมรายการทางวิทยุและโทรทัศน์
ตัวอย่างสถานการณ์ที่ 3
เด็กชาย ธนากร ชอบดูรายการโทรทัศน์ เกมทศกัณฑ์ มากซึ่งเกมนี้มีการทายใบหน้าของคนใน
สาขาอาชีพต่าง ๆ และเด็กชาย ธนากรสังเกตว่า ใบหน้าของคนแต่ละคนมีส่วนต่างกัน แต่
บางครั้งก็มีรูปทรงคล้าย ๆ กัน และถ้านำมาเปรียบเทียบกับรูปทรงเรขาคณิตก็จะได้หลาย
รูปทรงและ เด็กชาย ธนากร อยากจะทราบเหมือนกันว่า เพื่อนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
โรงเรียนกงไกรลาศวิทยาจะมีรูปทรงใบหน้าเป็นอย่างไรบ้าง จึงคิดชื่อโครงงานว่า
“ การสำรวจรูปทรงลักษณะใบหน้าของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนกงไกรลาศวิทยา ”