วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การเขียนรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์

การเขียนรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์


การเขียนรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นการเสนอผลงานการดำเนินการเป็นเอกสารจัดว่าเป็นขั้นตอนสำคัญอีกประการหนึ่งของโครงงาน เมื่อนักเรียนดำเนินการทำโครงงานจนครบขั้นตอนได้ข้อมูล ทำการวิเคราะห์ข้อมูล พร้อมทั้งแปรผล และสรุปผลแล้ว งานขั้นต่อไปที่ต้องทำคือการเขียนรายงานการเขียนรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นวิธีสื่อความหมายที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่งเพื่อให้คนอื่น ๆ ได้เข้าใจแนวความคิด วิธีดำเนินงานศึกษาค้นคว้าข้อมูล ผลที่ได้ตลอดจนข้อสรุปและข้อเสนอแนะต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงงานนั้น

ส่วนประกอบของการเขียนรายงานโครงงานวิทยาศาสตร์

โดยทั่วไปประกอบด้วย

1. ปกนอก

เป็นส่วนที่อยู่ด้านหน้าสุดของรายงานโครงงาน จะใช้กระดาษแข็ง เนื้อหาส่วนใหญ่คือ

- ชื่อเรื่องโครงงาน

- ชื่อผู้จัดทำโครงงาน

- ชื่อสถานที่ศึกษา

- จุดประสงค์ในการนำเสนอโครงงาน

2. ปกใน

เป็นส่วนที่อยู่รองจากปกนอกรายละเอียดจะคล้ายกับปกนอก ประกอบด้วย

- ชื่อเรื่องโครงงาน

- ชื่อผู้จัดทำโครงงาน

- ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา

- ชื่อสถานที่ศึกษา

- จุดประสงค์ในการนำเสนอโครงงาน


3. กิตติกรรมประกาศ

เป็นส่วนที่กล่าวแสดงความขอบคุณสำหรับผู้ที่ให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ในการทำโครงงาน จนประสบความสำเร็จ เพื่อให้ผู้จัดทำโครงงานได้แสดงออกถึงความกตัญญู รู้จักบุญคุณ นอกจากนี้ยังสามารถยืนยันถึงความสนใจ ในการทำโครงงานอีกด้วย


4. บทคัดย่อ

เป็นส่วนที่สรุปย่อความสำคัญทั้งหมดของการทำโครงงานและผลของการทำโครงงาน ซึ่งความยาวประมาณ 150-250 คำ หรือ ประมาณ 1 หน้ากระดาษ


5. สารบัญ

สารบัญจะเป็นส่วนที่ช่วยให้ผู้อ่านเห็นเค้าโครงโครงงาน และยังช่วยในการค้นหาแต่ละหัวข้อได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แยกตามลักษณะรายละเอียดได้ดังนี้

- สารบัญเรื่อง จะบอกเนื้อหาแต่ละเรื่องว่าอยู่หน้าไหน

- สารบัญตาราง จะบอกว่าตารางแต่ละตารางว่าอยู่หน้าไหน

- สารบัญรูปภาพ จะบอกว่ารูปภาพแต่ละรูปภาพว่าอยู่หน้าไหน

- สารบัญแผนภูมิและกราฟ จะบอกว่าแผนภูมิและกราฟแต่ละอันว่าอยู่หน้าไหน



6. ส่วนเนื้อเรื่องของการเขียนรายงาน

6.1 บทที่ 1 บทนำ เป็นบทแรกของการเสนอรายงานโครงงาน เป็นการกล่าวถึงเหตุจูงใจในการทำโครงงานเรื่องนี้ ทำแล้วจะได้ประโยชน์อะไร เป็นต้น ซึ่งจะประกอบด้วยหัวข้อดังนี้

- ภูมิหลัง หรือ ที่มาและความสำคัญ

- ความมุ่งหมายของการทำโครงงาน หรือ วัตถุประสงค์

- ตัวแปรต่างๆ

- สมมุติฐาน

- นิยามศัพท์เฉพาะ

- ขอบเขตของการศึกษาโครงงาน

6.2 บทที่ 2 เอกสารที่เกี่ยวข้อง เป็นบทที่แสดงถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะศึกษา อย่างละเอียด

6.3 บทที่ 3 วัสดุอุปกรณ์และวิธีการดำเนินงาน เป็นบทที่แสดงถึงการวางแผนออกแบบการทดลอง ว่าจะใช้อะไรดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งประกอบด้วย

- เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา

- ขั้นตอนและวิธีการศึกษาโครงงาน

- การเก็บรวบรวมข้อมูล

6.4 บทที่ 4 ผลการศึกษา เป็นการนำเสนอผลการศึกษาแต่ละขั้นตอนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ตาราง กราฟ แผนภูมิ เป็นต้น

6.5 บทที่ 5 สรุปและอภิปรายผลการทดลอง เป็นการสรุปผลการทดลองในแต่ละขั้นตอน พร้อมเสนอแนะการทำโครงงานต่อไปอีก

7. ภาคผนวก เป็นการเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับการดำเนินงานโครงงาน หรือทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

8. บรรณานุกรม เป็นการอ้างอิงหลักฐานเอกสารที่ค้นคว้าเกี่ยวกับการศึกษาโครงงาน โดยมีรูปแบบการนำเสนอดังนี้

- ชื่อผู้แต่ง นามสกุล.// ชื่อหนังสือ.// ครั้งที่พิมพ์.(ถ้าพิมพ์ครั้งที่ 2 เป็นต้นไป) เมืองที่พิมพ์ / : / สำนักพิมพ์, / ปีที่พิมพ์. ( เครื่องหมาย / หมายถึง การเว้น 1 เคาะ )

- การนำเสนอต้องเรียงลำดับตามตัวอักษรชื่อผู้แต่งโดยไม่มีคำนำหน้า

- เริ่มต้นแต่ละรายการของบรรณานุกรมโดยพิมพ์ชิดขอบซ้ายมือ ถ้าไม่จบในบรรทัดเดียวให้พิมพ์ต่อในบรรทัดถัดมาในระยะที่ 9

- ผู้แต่งคนเดียวกันเขียนงานหลายเรื่องและนำมาลงรายการบรรณานุกรมไว้ด้วยกัน งานชิ้นแรกให้ลงนามผู้แต่งตามหลักเกณฑ์การลงรายการผู้แต่งในบรรณานุกรม ต่อมาชิ้นหลัง ๆ ใช้ขีดเส้นยาวติดต่อกันระยะ 8 ช่วงตัวอักษรแทนนามผู้แต่ง ตามด้วยเครื่องหมายมหัพภาคแล้วจึงขึ้นชื่อเรื่องและเรียงลำดับตามอักษรชื่อเรื่องนั้น

ดังตัวอย่าง

ชลัยพร เหมะรัชตะ และคนอื่นๆ. การค้นคว้าและเขียนรายงาน. พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม.

กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540.

ภัทรธิรา ผลงาม. ทรัพยากรมนุษย์กับการพัฒนา. เลย : สถาบันราชภัฏเลย , 2544.

__________. ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์. เลย : สถาบันราชภัฏเลย , 2545.



9. ใบรองปกหน้า – หลัง เป็นกระดาษเปล่าขนาดเดียวกับที่ใช้พิมพ์รายงาน เพื่อป้องกันปกใน และเนื้อหาในแผ่นสุดท้ายอีกชั้นหนึ่ง

10. ปกหลัง เป็นกระดาษแข็งเช่นเดียวกับปกหน้า เพื่อเย็บเป็นรูปเล่ม