วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2562

รูปแบบการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์


การแสดงผลงาน

           การแสดงผลงานเป็นการเสนอผลงานที่ได้ศึกษาค้นคว้าสำเร็จลงแล้วให้ผู้อื่นได้รับรู้และเข้าใจ อาจทำในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดนิทรรศการ ซึ่งเป็นการจัดแสดงให้ผู้อื่นทราบถึงกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของการศึกษาค้นคว้า อาจมีอุปกรณ์ และเครื่องมือหรือภาพและแผนภูมิประกอบคำบรรยาย อาจมีหรือไม่มีการสาธิตประกอบด้วยก็ได้ หรืออาจจัดแสดงในรูปแบบอื่น ๆ เช่นการรายงานปากเปล่าก็ได้

                 การแสดงผลงานการทำโครงงานวิทยาศาสตร์นี้ อาจจัดได้หลายระดับ เช่น

-   การจัดเสนอผลงานภายในชั้นเรียน

-   การแสดงนิทรรศการภายในโรงเรียนเป็นการภายใน

-   การจัดนิทรรศการในงานประจำปีของโรงเรียน

-   การส่งผลงานเข้าร่วมในงานแสดงหรือประกวดภายนอกโรงเรียน ในระดับต่าง ๆ เช่น กลุ่มโรงเรียน  ระดับจังหวัด  ระดับเขตการศึกษา และระดับชาติ เป็นต้น

การแสดงผลงานในลักษณะที่มีการจัดแสดง ขั้นจำเป็นอย่างยิ่งสิ่งที่ต้องเขียนโปสเตอร์ติดแสดงโครงงาน ข้อความที่สำคัญที่จะต้องเขียน คือ

-    ชื่อโครงงาน

-    ชื่อผู้ทำโครงงาน

-    ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา

-    ชื่อสถานศึกษา

-    คำอธิบายย่อ ๆ ถึงมูลเหตุจูงใจในการทำโครงงานและความสำคัญของโครงงาน

-    จุดมุ่งหมาย

-    วิธีการดำเนินงาน อธิบายเป็นข้อ ๆ โดยย่อ หรืออาจแสดงเป็นภาพแสดงขั้นตอนดำเนินการประกอบด้วย

-     ผลการศึกษา ควรเสนอเฉพาะข้อมูลเด่น ๆ อาจมีภาพประกอบด้วย
                -     สรุปผล

           นอกจากนั้น ยังต้องจัดอุปกรณ์แสดงหรือสาธิตผลที่ได้จากการศึกษาด้วยการเสนอผลงานในลักษณะของการจัดแสดงนั้น ควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

-    ความปลอดภัยของการแสดง
-    ความเหมาะสมของพื้นที่ที่จัดแสดง
-   คำอธิบายที่เขียนแสดงนั้น ควรเน้นเฉพาะประเด็นต่าง ๆ ข้อความกะทัดรัด ชัดเจนและเข้าใจง่าย
-    นาดตัวอักษรต้องมีขนาดใหญ่ ผู้ชมสามารถอ่านได้ในระยะ 2 เมตร คือตัวอักษรที่เป็นชื่อเรื่อง ควรมีขนาดความสูงประมาณ 5 เซนติเมตร หัวข้อย่อย ขนาดความสูงประมาณ 2 เซนติเมตร และข้อความอื่น ๆ ขนาดความสูงประมาณ 1.5 เซนติเมตร
-   ดึงดูดความสนใจของผู้ชม โดยใช้สีที่สดใสคือ สีตัวอักษรต้องเด่นชัด และข้อความที่เป็นจุดเน้นที่สำคัญควรใช้สีที่สดใส
-     ใช้ตาราง และรูปภาพประกอบ โดยจัดวางอย่างเหมาะสม
-    สิ่งที่แสดงทุกอย่างต้องถูกต้อง ไม่มีการสะกดคำหรืออธิบายหลักการผิด
-  ในกรณีที่เป็นโครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ สิ่งประดิษฐ์ที่นำมาแสดงประกอบนั้น ต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์
                   สำหรับการเสนอผลงานในรูปแบบของการรายงานปากเปล่าในที่ประชุมนั้น ควรมีการใช้สื่อประเภทโสตทัศนูปกรณ์ ประกอบการรายงานด้วย เช่น แผ่นโปร่งใส หรือสไลด์ เป็นต้น  ส่วนข้อความที่จะเขียนลงบนแผ่นโปร่งใสนั้น ก็เป็นข้อความเช่นเดียวกับที่เขียนโปสเตอร์ดังที่กล่าวข้างต้น
                   การรายงานปากเปล่า ไม่ว่าจะเป็นการรายงานปากเปล่า ที่เป็นการอธิบายด้วยคำพูดประกอบกับการจัดแสดงโครงงาน หรือการรายงานปากเปล่าต่อที่ประชุมก็ตาม ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
-     ต้องทำความเข้าใจในเรื่องที่จะอธิบายเป็นอย่างดี
-     ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของการใช้ภาษาให้เหมาะสมกับระดับผู้ฟัง
-    รายงานตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อมหลีกเลี่ยงการอ่านรายงานแต่อาจดูหัวข้อสำคัญ ๆ ไว้เพื่อช่วยให้การรายงานเป็นขั้นตอน และควรชี้จุดเน้นหรือประเด็นที่สำคัญ ๆ ของโครงงานประกอบคำอธิบาย
-      อย่าท่องจำรายงาน เพราะจะทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ
-      ขณะรายงานต้องมองตรงไปยังผู้ฟัง
-      ควรรายงานให้เสร็จในระยะเวลาที่กำหนด

-    เมื่อรายงานเสร็จควรเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ซักถาม

-    การตอบคำถามควรตอบให้ตรงประเด็นที่ถามอย่างตรงไปตรงมา ไม่จำเป็นกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ได้ถาม
-     หากติดขัดในการตอบ อย่าเสแสร้งหรือกลบเกลื่อน ควรยอมรับแต่โดยดี
การเตรียมการก่อนการเสนอผลงานนั้น  นักเรียน ควรซักซ้อมการอธิบายปากเปล่า รวมทั้งการซักซ้อมการตอบคำถาม ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนเกิดความมั่นใจ


ส่วนประกอบของแผงโครงงาน
 
 


ส่วน ก1    ขนาด 60 X 60 เซนติเมตร  ประกอบด้วยหัวข้อดังนี้

1.   ชื่อสถานศึกษา

2.   ชื่อผู้จัดทำโครงงาน

3.   บทคัดย่อ



ส่วน ข     ขนาด 120 X 60 เซนติเมตร  ประกอบด้วยหัวข้อดังนี้

1.   ชื่อโครงงาน                     2.  ที่มาและความสำคัญ

3.    ขอบเขตการศึกษา           4.  จุดมุ่งหมายการศึกษา

5.    สมมติฐาน                       6.  วัสดุอุปกรณ์

7.    วิธีการทดลอง



ส่วน ก2     ขนาด 60 X 60 เซนติเมตร  ประกอบด้วยหัวข้อดังนี้

1.  ผลการทดลอง                  2. สรุปและอภิปรายผลการทดลอง

 3.   ข้อเสนอแนะ                    4.  เอกสารอ้างอิง



เทคนิคการรายงานผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
                   การรายงานผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ นักเรียนผู้ทำโครงงานจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ทำเป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งเกิดจากประสบการณ์ที่ได้ปฏิบัติจริงด้วยตัวเอง อีกส่วนหนึ่งคืออาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องเอาใจใส่ แนะนำให้นักเรียนได้ฝึกซ้อมการรายงานจนคล่องเป็นธรรมชาติ พอสรุปเป็นขั้น ๆ ได้ดังนี้
1.        หัวหน้ากลุ่มผู้ทำโครงงานแนะนำสมาชิกภายในกลุ่มพร้อมทำความเคารพ
2.        แบ่งหัวข้อให้ทุกคนในกลุ่มได้รายงาน
-              การรายงานต้องมีน้ำเสียงน่าฟัง เสียงดังชัดเจน
-              มีอุปกรณ์ช่วยชี้หัวข้อ บนแผงโครงงาน ไม่อ่านเนื้อหาบนแผงโครงงาน
-              หยิบอุปกรณ์ประกอบแผง เพื่อประกอบการรายงานอย่างคล่องแคล่ว
3.        เมื่อรายงานจบแล้วเปิดโอกาสให้กรรมการซักถามและพร้อมที่จะตอบคำถามอย่างมั่นใจ กรณีที่กรรมการซักถามลึกลงไปมากกว่าที่ได้ปฏิบัติจริง ให้ชี้แจงกรรมการตามความเป็นจริงว่า ยังไม่ได้ปฏิบัติและอาจจะรับไปปฏิบัติต่อไป
4.        มีเอกสารย่อ หรือผลงานแจก หรือกรณีชิมได้มีให้ชิมด้วย จะช่วยให้ผลงานเป็นที่สนใจของผู้ชมโดยทั่วไปมากยิ่งขึ้น

5.        เมื่อกรรมการหรือผู้ชม เสร็จสิ้นการตรวจหรือการชมแล้ว นักเรียนในกลุ่มกล่าวขอบคุณและแสดงความเคารพ