วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความหมายโครงงานวิทยาศาสตร์

ความหมายของโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


โครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยทั่วไปรู้จักกันในลักษณะกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ กิจกรรมหนึ่งของนักเรียนที่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ทำขึ้นในโรงเรียน และอาจนำส่งเข้าประกวดในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติของทุกปี โดยทั่วไปนักการศึกษานิยมเรียกว่า “โครงงานวิทยาศาสตร์” ซึ่งได้มีผู้ให้ความหมายโครงงานวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ กันดังนี้
1) โครงงานวิทยาศาสตร์ หมายถึง การศึกษาโครงสร้างและวิธีการแก้ปัญหาหนึ่งด้านวิทยาศาสตร์ โดยจัดเขียนเป็นโครงงานเพื่อเป็นแนวทางการศึกษาต่อและมีการปฏิบัติตามแนวทางที่วางไว้ เพื่อให้โครงงานนี้สัมฤทธิ์ผล ( ซีมัวร์ เอช โฟว์เลอร์; 1964 )
2) โครงงานวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อตอบปัญหาที่สงสัย ซึ่งปัญหาที่จะศึกษานั้นต้องเกิดจากความสนใจของผู้ทำโครงงาน มีกระบวนการศึกษาค้นกว้าเพื่อหาคำตอบอย่างมีระบบตามวิธีทางวิทยาศาสตร์ ตลอดไปจนถึงการเผยแพร่ผลงานของตนให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ทั้งนี้โดยมีอาจารย์วิทยาศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหาและเทคโนโลยีวิธีการของเรื่องนั้นๆ เป็นที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือแนะนำ (นันทิยา บุญเคลือบ; 2528 )
3) โครงงานวิทยาศาสตร์ หมายถึง การศึกษาเรื่องราวด้านวิทยาศาสตร์ในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งที่นักเรียนสนใจ โดยมีการวางแผนที่จะศึกษาภายในขอบเขตของระดับความรู้ ระยะเวลา และอุปกรณ์ที่มีอยู่ ในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์จะต้องใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา เพื่อให้ได้ผลงานที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ( สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี; 2529 )

องค์ประกอบโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สำคัญมีดังนี้

1. เป็นการศึกษาค้นคว้าที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

2. นักเรียนเป็นผู้ริเริ่ม และเลือกเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ตามความสนใจ ความรู้ และความสามารถ

3. เป็นกิจกรรมที่มีการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ไปช่วยในการศึกษาค้นคว้าเพื่อตอบปัญหาที่สงสัย

4. นักเรียนเป็นผู้วางแผนในการศึกษาค้นคว้า ตลอดจนดำเนินการปฏิบัติทดลองเก็บรวบรวมข้อมูล ประดิษฐ์คิดค้น รวมทั้งการแปลผล สรุปผล และเสนอผลการศึกษาค้นคว้า ด้วยตนเอง โดยมีครู - อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ให้คำปรึกษา

(สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2533)


จุดมุ่งหมายและคุณค่าของการทำโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

1. เป็นการสนับสนุนให้นักเรียนค้นหาคำตอบที่สงสัย ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่นักเรียนสนใจ มีการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนักเรียนจะต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาทำหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษาดูแล

2. เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ตามความเหมาะสมกับการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันและเป็นพื้นฐาน สำหรับนักเรียนจำนวนหนึ่งในการจะพัฒนา เพื่อรับการศึกษาระดับสูงเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองในด้านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

3. เป็นการสนับสนุนให้นักเรียนเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถทำสิ่งนั้นได้ด้วยตนเอง และรู้จักแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้ด้วยตนเอง โดยใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง

4. ฝึกให้นักเรียนรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม เป็นคณะ รู้จักร่วมกันคิด ร่วมกันหารือและร่วมกันวินิจฉัยในการแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เป็นการสร้างความสามัคคี ความมีระบบระเบียบในหมู่คณะ อันเกิดจากทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์