วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การกำเนิดหิน


แหล่งที่มา:http://www.youtube.com/v/VSkacJ0OR_Q?version=3&hl=th_TH

กำเนิดหินชนิดต่าง ๆ
หินแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ตามสภาพการเกิดคือ หินอัคนี หินตะกอน และหินแปร


1)หินอัคนี

หินอัคนี คือ หินที่เกิดจากการรวมตัวของแร่ที่ตกผลึกจากสารหลอมละลายหรือหินหนืด หรือMagma (หินหนืดที่ถูกผลักดันสู่ผิวโลกหรือเรียกหินละลาย หรือ lava)ที่อุณหภูมิสูง ประกอบด้วยสารประกอบจำพวกซิลิเกตเป็นส่วนใหญ่ที่มีกำเนิดอยู่ใต้ผิวโลกลึกลงไป แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดตามลักษณะเนื้อหิน(Texture) และสถานที่ๆ แร่ตกผลึกคือ
1.1.หินอัคนีบาดาล(Plutonic rock)
หินอัคนีบาดาล(Plutonic rock) หมายถึงหินอัคนีเนื้อหยาบที่เกิดจากการเย็นตัวอย่างช้า ๆ ตกผลึกและแข็งตัวจากการหลอมละลาย ณ ระดับหนึ่งใต้ผิวโลก (โดยทั่วไปลึกมากกว่า 2 กิโลเมตร) ตัวอย่างเช่น หินแกรนิต(Granite) เป็นหินอัคนีบาดาลสีขาวเทาอาจมีจุดประสีดำๆ ประกอบด้วย แร่เขี้ยวหนุมาน (Quartz; สีขาวใส) แร่ฟันม้า (feldspar; สีขาวขุ่น) และแร่ดำๆ เช่น แร่ไบโอไทท์ (biotite) เป็นส่วนใหญ่ หินแกรนิตเป็นหินสำคัญบนเปลือกโลกส่วนทวีป (Continental crust) ในเมืองไทยมักเกิดตามแนวเทือกเขาใหญ่ของประเทศ อาทิเช่น เทือกเขาตะนาวศรีทางตะวันตก-ใต้ (จังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง) และเทือกเขาผีปันน้ำทางภาคเหนือ (จังหวัดลำปาง และเชียงใหม่)
หินไดโอไรท์(Diorite) เป็นหินอัคนีบาดาลสีคล้ำเข้มกว่าหินแกรนิตออกไปทางสีเทา,เขียว เนื่องจากมีปริมาณแร่เขี้ยวหนุมานลดลงมากปริมาณแร่ฟันม้าและแร่ดำๆ เช่น ไบโอไต์และฮอน เบลนด์ (hornblende;สีดำเสี้ยนยาว) เพิ่มมากขึ้นจึงเห็นเป็นสีขาวประดำเป็นส่วนใหญ่ ในเมืองไทยพบไม่มากนัก และโดยมากพบในบริเวณเดียวกับที่ที่พบหินแกรนิต เช่น ที่จังหวัดเลย แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ และเชียงราย หินแกบโบร(Gabbro) เป็นหินอัคนีบาดาลสีเข้มถึงดำ และประกอบด้วยแร่ไพรอกซีน (Pyroxene;สีดำเสี้ยนสั้น) แร่ฟันม้าชนิดแพลจิโอเคลส(Plagioclase) เป็นส่วนใหญ่และอาจมีแร่โอลิ-วีน(Olivine;สีเขียวใส) อยู่บ้าง พบไม่มากนักบนเปลือกโลกส่วนทวีป แต่จะพบอยู่มากในส่วนล่างของเปลือกสมุทร(Oceanic crust) เมืองไทยพบอยู่น้อยมากเป็นแนวเทือกเขาเตี้ย ๆ แถบจังหวัดเลย แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ปราจีนบุรี และศรีสะเกษ

1.2.หินภูเขาไฟ(Voleanic rock)
หินภูเขาไฟ(Volcanic rock) หมายถึงหินอัคนีเนื้อละเอียดหรือละเอียดมาก(คล้ายแก้ว) จนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นซึ่งเกิดจากการเย็นตัวอย่างรวดเร็วจากหินละลาย(Lava) ที่ไหลขึ้นมาสู่ผิวโลก เช่น หินไรโอโลท์(Rhyolite) เป็นหินภูขาไฟที่มีสีขาวเทาเนื้อละเอียดและมีส่วนประกอบทางแร่คล้ายกับหินแกรนิต มักประกอบด้วยผลึกดอก(Phenocryst) ซึ่งมองด้วยตาเปล่าได้ชัดเจนกระจัดกระจายอยู่ในเนื้อหิน(รูป 5.18) ผลึกดอกส่วนใหญ่ได้แก่ แร่เขี้ยวหนุมาน และแร่ไบโอไทท์ (biotite;แร่ดำเป็นแผ่นๆ) หินไรโอไลท์มักเกิดเป็นภูเขาหรือเนินกลม ๆ บางที่ก็เรียงรายเป็นเทือกเขา เมืองไทยพบอยู่ไม่มากนัก เช่น จังหวัดสระบุรี ลพบุรี และแพร่ หินแอนดีไซท์(Andesite) เป็นหินภูเขาไฟที่มีสีเขียวหรือเขียวเทาเนื้อละเอียด มีส่วนประกอบทางแร่คล้ายหินไดโอไรท์ ผลึกดอกมักเป็นแร่ฟันม้า แร่ไพรอกซีนและแร่แอมฟิโบล มักเกิดเป็นแนวเทือกเขาเป็นแนวยาวเช่นที่แถบจังหวัดสระบุรี ลพบุรี และแพร่ หินบะซอลต์(Basalt) เป็นหินภูเขาไฟสีเข้มถึงดำ เนื้อละเอียดมีส่วนประกอบทางแร่คล้ายหินแกบโบร ผลึกดอกมักเป็นแร่โอลิวีน หรือไพรอกซีน หินมักพบแร่กระจายเป็นบริเวณกว้าง เมืองไทยพบมากแถบจังหวัดศรีสะเกษ กาญจนบุรี และจันทบุรี ซึ่งบางแห่งก็เป็นต้นกำเนิดของพลอย
หินอัคนีที่สำคัญ
หินแกรนิต (Granite) เป็นหินอัคนีแทรกซอนที่เย็นตัวลงภายในเปลือกโลกอย่างช้าๆ จึงมีเนื้อหยาบซึ่งประกอบด้วยผลึกขนาดใหญ่ของแร่ควอรตซ์สีเทาใส แร่เฟลด์สปาร์สีขาวขุ่น และแร่ฮอร์นเบลนด์ หินแกรนิตแข็งแรงมาก ชาวบ้านใช้ทำครก เช่น ครกอ่างศิลา ภูเขาหินแกรนิตมักเตี้ยและมียอดมน เนื่องจากเปลือกโลกซึ่งเคยอยู่ชั้นบนสึกกร่อนผุพัง เผยให้เห็นแหล่งหินแกรนิตซึ่งอยู่เบื้องล่าง
หินบะซอลต์ (Basalt) เป็นหินอัคนีพุ เนื้อละเอียด เกิดจากการเย็นตัวของลาวา มีสีเข้มเนื่องจากประกอบด้วยแร่ไพร็อกซีนเป็นส่วนใหญ่ อาจมีแร่โอลิวีนปนมาด้วย เนื่องจากเกิดขึ้นจากแมกมาใต้เปลือกโลก หินบะซอลต์หลายแห่งในประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดของอัญมณี (พลอยชนิดต่างๆ) เนื่องจากแมกมาดันผลึกแร่ซึ่งอยู่ลึกใต้เปลือกโลก ให้โผล่ขึ้นมาเหนือพื้นผิว
หินไรโอไลต์ (Ryolite) เป็นหินอัคนีพุซึ่งเกิดจากการเย็นตัวของลาวา มีเนื้อละเอียดซึ่งประกอบด้วยผลึกแร่ขนาดเล็ก มีแร่องค์ประกอบเหมือนกับหินแกรนิต แต่ทว่าผลึกเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ ส่วนมากมีสีชมพู และสีเหลือง
หินแอนดีไซต์ (Andesite) เป็นหินอัคนีพุซึ่งเกิดจากการเย็นตัวของลาวาในลักษณะเดียวกับหินไรโอไรต์ แต่มีองค์ประกอบของแมกนีเซียมและเหล็กมากกว่า จึงมีสีเขียวเข้ม
หินพัมมิซ (Pumice) เป็นหินแก้วภูเขาไฟชนิดหนึ่งซึ่งมีฟองก๊าซเล็กๆ อยู่ในเนื้อมากมายจนโพรกคล้ายฟองน้ำ มีส่วนประกอบเหมือนหินไรโอไลต์ มีน้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ ชาวบ้านเรียกว่า หินส้ม ใช้ขัดถูภาชนะทำให้มีผิววาว
หินออบซิเดียน (Obsedian) เป็นหินแก้วภูเขาไฟซึ่งเย็นตัวเร็วมากจนผลึกมีขนาดเล็กมาก เหมือนเนื้อแก้วสีดำ หินออบซิเดียน
2)หินตะกอน(Sedimentary Rock)

หินตะกอน คือหินที่เกิดจากการแข็งตัวและอัดตัวของตะกอนเศษหินหรือสารละลายที่ถูกตัวกลางเช่นลมและน้ำพัดพามาและสะสมตัวบนที่ต่ำ ๆ ของผิวโลกหินตะกอนแบ่งเป็น 3 ชนิดตามลักษณะของเนื้อหิน คือ

2.1 หินตะกอนเนื้อประสม
หินตะกอนแตกหลุด หรือตะกอนเม็ด(Clastic sedimentary rock) หมายถึงหินตะกอนที่ประกอบ ด้วยอนุภาคที่แตกหลุดและพัดพามาจากที่อื่น ๆ เช่น
หินดินดาน(Shale) เป็นหินตะกอนแตกหลุดเนื้อละเอียด ประกอบด้วยอนุภาคตะกอนขนาดเล็กกว่า 1/256 มม มักแสดงลักษณะเป็นชั้นๆ ขนานกัน(bed) ประกอบด้วย แร่เขี้ยวหนุมาน แร่ไมก้า(mica) และแร่ดิน(clay mineral) เป็นส่วนใหญ่ขนาดของตะกอนเล็กเกินกว่าที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ในเมืองไทยพบอยู่ทั่วไปเช่นแถบจังหวัดชลบุรี นครศรีธรรมราช ยะลา และกาญจนบุรี และส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
หินทราย(Sandstone) เป็นหินตะกอนแตกหลุดที่ประกอบด้วยอนุภาคตะกอนขนาดตั้งแต่ 1/16 - 2 มม (คือเท่าเม็ดทราย) เม็ดทรายมักมีลักษณะกลมแสดงถึงการกัดกร่อนและการพัดพา แร่เขี้ยวหนุ-มานเป็นแร่ที่พบบ่อยในหินแต่อาจมีแร่ฟันม้า แร่โกเมน (garnet) และแร่ไมก้าปะปนอยู่ด้วย บางครั้งแสดงลักษณะเป็นชั้น ๆ ชัดเจน สีแดง ๆของหินแสดงว่าหินมีตัวเชื่อมประสาน(Cement) เป็นพวกเหล็ก ในเมืองไทยพบแทบทุกจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ นครพนม และสกลนคร
หินกรวด(Conglomerate) เป็นหินตะกอนแตกหลุดที่ประกอบด้วยอนุภาคตะกอนขนาดใหญ่กว่า 2 มม (คือใหญ่เท่าเม็ดทราย)ที่ยึดเกาะกันแน่นอยู่ภายใน เนื้อหินที่ประกอบด้วยตะกอนทรายและทรายแป้ง (silt) เม็ดตะกอนมักมีลักษณะกลมมนและมีความคงทนสูง เช่นแร่เขี้ยวหนุมาน และหินควอทไซท์ แต่อาจจะประกอบด้วยหินปูนและหินแกรนิตได้ เมืองไทยพบไม่มากนักอาจมีบ้างเช่นที่จังหวัดกาญจนบุรี ระยอง และลพบุรี

2.2 หินตะกอนเคมี
หินตะกอนเคมี(Chemical หรือ Nonclastic sedimentary rock) หมายถึง หินตะกอนที่เกิดจากการตกผลึกจากสารละลายที่พัดพามาโดยน้ำ ณ อุณหภูมิต่ำเช่น
หินปูน(Limestone) เป็นหินตะกอนเคมีที่ประกอบด้วยผลึกแร่คัลไซท์(calcite) เป็นส่วนใหญ่ บางครั้งอาจมีซากบรรพชีวิน (fossils) อยู่ด้วย โดยมากแสดงลักษณะภูมิประเทศเป็นยอดเขาสูงผนังชั้นหลาย ๆ ยอดซ้อนกัน เนื่องจากได้รับอิทธิพลของการกัดเซาะและการละลายโดยน้ำ เมืองไทยพบมากแถบจังหวัดสระบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พังงา และชุมพร
หินเกลือ(Rock Salt) เป็นหินตะกอนเคมีที่ประกอบด้วยผลึกแร่เกลือหิน(halite) โดยปกติมักมีเนื้อเนียน มีสีขาวใส หรือไม่มีสี แต่อาจมีสีต่าง ๆ ได้ เช่น สีส้ม เหลือง แดง เนื่องจากมีมลทินของสารจำพวกเหล็กปนอยู่เมืองไทยพบมากในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่น จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา และขอนแก่น
ถ่านหิน(Coal) เป็นหินตะกอนอินทรีย์ สีดำ มันวาว ทึบแสงและไม่เป็นผลึก ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ที่อัดกันแน่นจนกลายเป็นสภาพหิน เมืองไทยที่พบมากเป็นถ่านหินขั้นต่ำ เช่น บริเวณแถบจังหวัดลำปาง กระบี่ แพร่ สงขลา และเลย




ที่มา: http://www.thaigoodview.com/node/41368

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความหมายโครงงานวิทยาศาสตร์

ความหมายของโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


โครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยทั่วไปรู้จักกันในลักษณะกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ กิจกรรมหนึ่งของนักเรียนที่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ทำขึ้นในโรงเรียน และอาจนำส่งเข้าประกวดในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติของทุกปี โดยทั่วไปนักการศึกษานิยมเรียกว่า “โครงงานวิทยาศาสตร์” ซึ่งได้มีผู้ให้ความหมายโครงงานวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ กันดังนี้
1) โครงงานวิทยาศาสตร์ หมายถึง การศึกษาโครงสร้างและวิธีการแก้ปัญหาหนึ่งด้านวิทยาศาสตร์ โดยจัดเขียนเป็นโครงงานเพื่อเป็นแนวทางการศึกษาต่อและมีการปฏิบัติตามแนวทางที่วางไว้ เพื่อให้โครงงานนี้สัมฤทธิ์ผล ( ซีมัวร์ เอช โฟว์เลอร์; 1964 )
2) โครงงานวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อตอบปัญหาที่สงสัย ซึ่งปัญหาที่จะศึกษานั้นต้องเกิดจากความสนใจของผู้ทำโครงงาน มีกระบวนการศึกษาค้นกว้าเพื่อหาคำตอบอย่างมีระบบตามวิธีทางวิทยาศาสตร์ ตลอดไปจนถึงการเผยแพร่ผลงานของตนให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ทั้งนี้โดยมีอาจารย์วิทยาศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหาและเทคโนโลยีวิธีการของเรื่องนั้นๆ เป็นที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือแนะนำ (นันทิยา บุญเคลือบ; 2528 )
3) โครงงานวิทยาศาสตร์ หมายถึง การศึกษาเรื่องราวด้านวิทยาศาสตร์ในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งที่นักเรียนสนใจ โดยมีการวางแผนที่จะศึกษาภายในขอบเขตของระดับความรู้ ระยะเวลา และอุปกรณ์ที่มีอยู่ ในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์จะต้องใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา เพื่อให้ได้ผลงานที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ( สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี; 2529 )

องค์ประกอบโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สำคัญมีดังนี้

1. เป็นการศึกษาค้นคว้าที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

2. นักเรียนเป็นผู้ริเริ่ม และเลือกเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ตามความสนใจ ความรู้ และความสามารถ

3. เป็นกิจกรรมที่มีการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ไปช่วยในการศึกษาค้นคว้าเพื่อตอบปัญหาที่สงสัย

4. นักเรียนเป็นผู้วางแผนในการศึกษาค้นคว้า ตลอดจนดำเนินการปฏิบัติทดลองเก็บรวบรวมข้อมูล ประดิษฐ์คิดค้น รวมทั้งการแปลผล สรุปผล และเสนอผลการศึกษาค้นคว้า ด้วยตนเอง โดยมีครู - อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ให้คำปรึกษา

(สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2533)


จุดมุ่งหมายและคุณค่าของการทำโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

1. เป็นการสนับสนุนให้นักเรียนค้นหาคำตอบที่สงสัย ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่นักเรียนสนใจ มีการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนักเรียนจะต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาทำหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษาดูแล

2. เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ตามความเหมาะสมกับการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันและเป็นพื้นฐาน สำหรับนักเรียนจำนวนหนึ่งในการจะพัฒนา เพื่อรับการศึกษาระดับสูงเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองในด้านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

3. เป็นการสนับสนุนให้นักเรียนเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถทำสิ่งนั้นได้ด้วยตนเอง และรู้จักแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้ด้วยตนเอง โดยใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง

4. ฝึกให้นักเรียนรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม เป็นคณะ รู้จักร่วมกันคิด ร่วมกันหารือและร่วมกันวินิจฉัยในการแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เป็นการสร้างความสามัคคี ความมีระบบระเบียบในหมู่คณะ อันเกิดจากทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์